ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1166/2566

8/1/20241 min read

โจทก์กล่าวอ้างว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าสินค้าของจำเลยร่วมเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 4 โดยจำเลยทั้งสองถือเป็นผู้ประกอบการในฐานะผู้ขาย ส่วนจำเลยร่วมเป็นผู้ประกอบการในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ จึงต้องด้วยมาตรา 7 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดหากพิสูจน์ได้ว่า (1) สินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมกล่าวอ้างเกี่ยวกับการผลิตการประกอบซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจึงมีภาระการพิสูจน์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมนําสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ถุงลมนิรภัยทำงานเป็นปกติและไม่ชํารุดบกพร่อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นสินค้าที่มีความบกพร่องในการผลิตและเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าว และการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติและธรรมดาของโจทก์ จำเลยร่วมในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดจำหน่ายที่มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อสามารถระบุตัวจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ผลิตได้แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551

การบรรยายฟ้องของโจทก์นอกจากให้จำเลยทั้งสองรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แล้ว ยังเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดจากการที่รถยนต์คันพิพาทไม่เป็นไปตามที่จำเลยทั้งสองได้โฆษณาไว้ อันอยู่ในเกณฑ์ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่ด้วย การที่โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 เพราะเชื่อตามคําโฆษณาว่า รถยนต์คันพิพาทมีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทกสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คําโฆษณาดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 เมื่อถุงลมนิรภัยไม่ทำงานโดยไม่ออกมาป้องกันอันตรายขณะเกิดอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้โจทก์และสามีโจทก์ได้รับบาดเจ็บไม่เป็นไปตามคําโฆษณาของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขายจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องร่วมรับผิด สำหรับจำเลยที่ 1 ได้ความว่าในการประกอบธุรกิจ จำเลยร่วมจะเป็นผู้ผลิตและประกอบรถยนต์แล้วจึงจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจำหน่ายและส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย การประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ของศูนย์บริการของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาระหว่างกัน โดยศูนย์จำหน่ายต้องใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ของ ช. การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ต้องยึดถือตามมาตรฐานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องมีบริการหลังการขาย ตามพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ประกอบกับหลังเกิดเหตุ พนักงานจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตรวจสอบสภาพรถรวมถึงถุงลมนิรภัยเองและได้ร่วมเจรจากับโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีฐานะต่างเป็นตัวการตัวแทนซึ่งกันและกันในการร่วมกันประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการซ่อมบํารุงรถยนต์ยี่ห้อ ช. รวมทั้งรถยนต์คันพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของตน เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาซื้อขายด้วย

มูลหนี้ที่ทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเรื่องสัญญา ส่วนความรับผิดของจำเลยร่วมนั้นมาจากมูลหนี้ละเมิด โจทก์นําสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นผลทั้งจากการผิดสัญญาและละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายทั้งหมดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท เมื่อถุงลมนิรภัยมีไว้เพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเพื่อรองรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หากถุงลมนิรภัยทำงานผิดปกติ จำเลยทั้งสองผู้ขายรถยนต์พิพาทย่อมคาดเห็นได้ว่าโจทก์ผู้ใช้รถรวมทั้งคนโดยสารจะได้รับบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่แต่เฉพาะความเสียหายต่อตัวทรัพย์ที่ขาย แต่รวมไปถึงความเสียหายดังกล่าวด้วย อันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่พฤติการณ์พิเศษ แม้โจทก์ไม่ได้นําสืบแจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายแต่ละส่วน ศาลก็สามารถกำหนดค่าเสียหายให้ตามพฤติการณ์แห่งคดีได้และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาตามฟ้องนั้นเหมาะสมแล้ว กำหนดให้ตามขอ ส่วนค่าเสียหายในมูลละเมิดที่จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น การที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานถือเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้น่าจะสูงกว่าค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา แต่ตามฟ้องโจทก์ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเท่าที่ขอมาและไม่เกินสมควร จึงให้จำเลยร่วมรับผิดเป็นหนี้จำนวนเดียวกันซึ่งโจทก์อาจเรียกให้แต่ละคนชําระหนี้โดยสิ้นเชิงได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมมีพฤติการณ์ที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษให้

มีปัญหากฎหมายและคดีความ ปรึกษาทนายวริญา

โทร/ไลน์ 0991841301