การจดทะเบียนบริษัท

Blog post description.

เล่าสู่กันฟัง

8/9/20241 min read

man holding black bag walking on road
man holding black bag walking on road

การจดทะเบียนบริษัทมีกี่แบบ? มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

เมื่อเปิดบริษัทของตัวเองแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การจดทะเบียนบริษัท ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี เรื่องการบริหารงานเป็นระบบ รวมทั้งยังสร้างโอกาสการขอสินเชื่อในอนาคต

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทฉบับเข้าใจง่ายมาฝาก ผู้ประกอบการมือใหม่สามารถติดตามไปพร้อมกันในบทความนี้เลย

การจดทะเบียนบริษัทมีกี่แบบ?

การจดทะเบียนบริษัทแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)

การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา) คือ การเปิดบริษัทที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว ไม่มีพนักงาน เหมาะสำหรับกิจการขนาดเล็กที่มูลค่าไม่สูงมาก เช่น ขายของออนไลน์ ค้าขายแบบมีหน้าร้านขนาดเล็ก โดยเจ้าของกิจการจะมีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่าง ได้กำไรเต็มที่ แต่ถ้าขาดทุนก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างคนเดียวเช่นกัน

การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล

การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล เป็นกิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน โดยการตัดสินทุกอย่างจะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของกิจการทุกคน แต่ออกมาในนามของบริษัท เหมาะสำหรับกิจการขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งการจดทะเบียนนิติบุคคลแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ

ห้างหุ้นส่วนที่เจ้าของกิจการทุกคนมีสิทธิ์จัดการกิจการและแบ่งปันผลกำไรจากกิจการ รวมทั้งรับผิดชอบภาระหนี้สินร่วมกันแบบไม่จำกัดจำนวน โดยจะจดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่จดก็ได้

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

กิจการที่มีเจ้าของหรือหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ซึ่งแบ่งผู้ถือหุ้นออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

หุ้นส่วนแบบจำกัด คือ หุ้นส่วนที่รับผิดชอบหนี้สินจากกิจการแบบจำกัดโดยไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตนเอง โดยหุ้นส่วนประเภทนี้จะไม่มีสิทธิ์เข้าจัดการงาน หรือตัดสินใจในกิจการของห้างหุ้นส่วน แต่สามารถออกความเห็น เป็นที่ปรึกษา หรือสอบถามการดำเนินงานได้

หุ้นส่วนแบบไม่จำกัด คือ หุ้นส่วนที่รับผิดชอบหนี้สินร่วมกันทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการโดยไม่จำกัดจำนวน ตามกฎหมายกำหนดว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องมีหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดอย่างน้อย 1 คน โดยหุ้นส่วนประเภทนี้จะมีสิทธิ์เข้าจัดการงาน หรือตัดสินใจในกิจการของห้างหุ้นส่วนได้อย่างเต็มที่

3. บริษัทจำกัด

กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงร่วมธุรกิจกันเพื่อหากำไร โดยบริษัทจำกัดต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งข้อดีของบริษัทจำกัด คือ มีความเชื่อถือในระยะยาว ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบหนี้สินไม่เกินเงินทุนค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ ไม่ต้องรับผิดชอบเกินกว่าที่ลงทุนไป

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

ผู้ประกอบการมือใหม่อาจจะคิดว่าการจดทะเบียนบริษัทจะเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ขอบอกเลยว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะเราสรุปขั้นตอนการจดทะเบียนฉบับเข้าใจง่ายมาให้แล้ว ดังนี้

1. ตั้งชื่อและจองชื่อบริษัทสำหรับการจดทะเบียน

ก่อนจะจดทะเบียนบริษัท จะต้องตั้งชื่อบริษัทก่อน โดยชื่อบริษัทจะต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายกับบริษัทอื่นที่จดทะเบียนไปแล้ว ไม่ใช้ชื่อกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งไม่ใช้พระนามของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน โดยวิธีการตรวจและจองชื่อบริษัทมี 2 ขั้นตอน ดังนี้

  • สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  • เข้าไปที่ จองชื่อ/ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล เพื่อจองชื่อบริษัท โดยสามารถยื่นจองได้สูงสุด 3 ชื่อ และจะได้รับการพิจารณาตามลำดับ หากชื่อแรกซ้ำหรือไม่ผ่านเกณฑ์ นายทะเบียนจะพิจารณาชื่อในลำดับถัดไป

2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน

หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือแสดงความต้องการจัดตั้งบริษัทที่ต้องใช้ยื่นต่อนายทะเบียน โดยต้องยื่นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่นายทะเบียนแจ้งผลการรับรองชื่อบริษัท หากยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิล่าช้าเกิน 30 วัน ต้องจองชื่อใหม่ โดยหนังสือบริคณห์สนธิประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้

  • ข้อมูลที่ต้องใช้ในการจัดตั้งบริษัท

  • ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองไว้)

  • ที่ตั้งสำนักงานใหญ่/สาขา

  • วัตถุประสงค์ของบริษัท

  • ทุนจดทะเบียน

  • ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน

  • ข้อบังคับ (ถ้ามี)

  • จำนวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว อย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน

  • ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ

  • รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท (อำนาจกรรมการ)

  • ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน

  • ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน

3. เปิดจองหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น

เมื่อจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องเปิดให้จองซื้อหุ้นบริษัท ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าซื้อหุ้นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งเท่านั้น โดยต้องซื้อขั้นต่ำจำนวน 1 หุ้นขึ้นไป และเมื่อขายหุ้นบริษัทจนครบแล้ว จะต้องออกหนังสือเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด

4. จัดประชุมบุคลากรเพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน

ขั้นตอนต่อมา คือ จัดประชุมบุคลากรที่ได้รับคัดเลือกในบริษัทเพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน โดยวาระการประชุมจะต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ได้แก่ การตั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัท การคัดเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบและรับรองงบการเงิน การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัท ค่าตอบแทนของผู้ริเริ่มหรือผู้ก่อตั้งบริษัท ตลอดจนจำนวนหุ้นบริษัทสุทธิ

5. จัดตั้งคณะกรรมการบริษัท

ในการประชุมควรเลือกคณะกรรมการเพื่อเก็บเงินค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของมูลค่าหุ้นจากผู้ก่อตั้งและผู้จองหุ้น เมื่อได้รับค่าหุ้นครบแล้ว กรรมการจะต้องทำคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท และยื่นจดทะเบียนภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่มีการประชุม หากล่าช้ากว่าเวลาดังกล่าว จะถือว่าการประชุมเป็นโมฆะ ต้องจัดการประชุมขึ้นใหม่

6. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท

ค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระในการจดทะเบียนบริษัทมีดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คิดจากเงินทุนแสนละ 50 บาท ขั้นต่ำ 500 บาท

  • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท ตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท ขั้นต่ำ 5,000 บาท

  • ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท

  • ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท

  • ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท

  • ค่าอากรแสตมป์ 200 บาท

7. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการจดทะเบียนบริษัท คือ การรับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท นั่นหมายถึงบริษัทได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการ โดยสามารถรับได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่

จดทะเบียนบริษัท ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

  • แบบ บอจ. 1 หรือแบบคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด

  • แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด

  • แบบ บอจ. 2 หรือหนังสือบริคณห์สนธิ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200.-

  • แบบ บอจ. 3 หรือรายการจดทะเบียนจัดตั้ง

  • แบบ ว. หรือแบบวัตถุที่ประสงค์

  • แบบ ก. หรือรายละเอียดกรรมการ

  • ใบแจ้งผลจองชื่อนิติบุคคล (ยังไม่หมดอายุ)

  • หลักฐานเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • แบบ บอจ. 5 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น

  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะในการประชุมให้ความเห็นในกิจการที่ได้ประชุมจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ

  • สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท

  • สำเนาข้อบังคับ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200.- (ถ้ามี)

  • สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้ผู้ถือหุ้น

  • กรณีที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นแต่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ให้ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยเตรียมหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออกให้ เพื่อแสดงยอดเงินฝากธนาคารของผู้ถือหุ้น โดยยอดเงินต้องตรงกับจำนวนที่นำมาลงทุนหุ้น

  • แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ

  • แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

  • สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการทุกคน

  • สำเนาหลักการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)

  • หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง)

ช่องทางการจดทะเบียนบริษัท

  • จดทะเบียนบริษัทผ่านสำนักงานบัญชีหรือผู้ให้บริการรับจดทะเบียนบริษัท เช่น ทนายความ

  • จดทะเบียนบริษัท ออนไลน์ด้วยตัวเอง DBD e-Registration

  • จดทะเบียนบริษัทที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ก่อนจะจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการควรศึกษาขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทให้ละเอียดและเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ให้ครบถ้วน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้อย่างราบรื่น แต่สำหรับใครที่กังวลว่าจะทำตามขั้นตอนไม่ถูกต้อง กลัวทำเอกสารหาย กลัวจดทะเบียนผิดประเภท รู้หรือไม่ว่าเราสามารถจ้างทนายเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทได้ นอกจากจะไม่ต้องวิ่งเดินเรื่องเองแล้ว ยังได้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยตรงมาช่วยดูแล ทำให้จดทะเบียนได้เหมาะกับธุรกิจตนเอง จดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เสียเวลา

หาทนาย จดทะเบียนบริษัท ปรึกษากฎหมาย ติดต่อทนายวิ 0991841301