อายุความในคดีแพ่ง

Blog post description.

บทความ

8/9/20241 min read

selective focus photo of brown and blue hourglass on stones
selective focus photo of brown and blue hourglass on stones

อายุความคดีแพ่ง คดีแพ่งมีอายความกี่ปี?

อายุความ (Prescription หรือ Limitation) คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้สิทธิต่างๆ ก็ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว จะไม่สามารถยกสิทธิดังกล่าวขึ้นอ้างอีกไม่ได้ หรือที่เราเรียกว่า "คดีขาดอายุความ" แล้วคดีแพ่งมีอายุความกี่ปี? คดีขาดอายุความสามารถฟ้องได้ไหม? หาคำตอบได้ในบทความนี้

คดีแพ่งมีอายุความกี่ปี?

คำถามที่ว่าคดีแพ่งมีอายุความกี่ปีนั้น ไม่สามารถตอบได้ทันที เพราะคดีแพ่งแต่ละคดีก็มีอายุความที่แตกต่างกัน มีทั้งคดีแพ่งที่มีอายุความสั้น ๆ เช่น อายุความคดีแพ่งผิดสัญญาหมั้น 6 เดือน แต่ไม่เกิน 5 ปี อายุความฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คมีกำหนด 1 ปี เป็นต้น รวมทั้งคดีแพ่งที่มีอายุความ 2 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น

คดีแพ่งอายุความ 2 ปี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 คดีแพ่งที่กำหนดอายุความ 2 ปี เช่น คดีเรียกค่าธรรมเนียมการศึกษา คดีเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ คดีเรียกค่าการงานที่ทำให้หรือสินจ้าง เช่น ครูหรืออาจารย์เรียกเอาค่าสอน ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ เป็นต้น

คดีแพ่งอายุความ 5 ปี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 คดีแพ่งที่กำหนดอายุความ 5 ปี เช่น คดีเรียกดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เรียกเงินผ่อนคืนเป็นงวด ๆ เรียกเงินค้างจ่าย เช่น เงินเดือน ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

คดีแพ่งอายุความ 10 ปี

คดีที่ประมวลกฎหมาย หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น อายุความคดีแพ่งผิดสัญญาซื้อขาย เป็นต้น

คดีแพ่งหมดอายุความ ฟ้องได้ไหม?

นอกจากข้อสงสัยว่าคดีแพ่งมีอายุความกี่ปี อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนสงสัยก็คือ คดีแพ่งหมดอายุความ ฟ้องได้ไหม?แม้ว่าคดีแพ่งจะหมดหรือขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้ก็อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ และลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแพ่งก็มีสิทธิยกเหตุที่หนี้ขาดอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ตามฟ้อง หากศาลเห็นว่าหนี้ขาดอายุความจริงศาลต้องยกฟ้อง แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกฟ้องโดยอ้างว่าหนี้ขาดอายุความไม่ได้

คดีแพ่งอายุความหมด แต่หนี้ไม่หมด

คดีแพ่งขาดอายุความจึงไม่ทำให้หนี้ระงับ กล่าวคือ แม้หนี้จะขาดอายุความแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ชำระหนี้ ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใด ก็ยังคงเป็นหนี้อยู่ตลอด ดังนั้น หากลูกหนี้มาชำระนี้หลังจากหนี้ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว และจะเรียกเงินคืนภายหลัง โดยอ้างว่าหนี้ขาดอายุความไม่ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม”

ทำไมต้องมีอายุความคดีแพ่ง?

ทำไมต้องมีอายุความ? ถ้าเป็นแบบนี้ใครทำผิดก็ได้เปรียบเพราะถ้าคดีหมดอายุความ คนทำผิดก็สบายไม่ต้องรับโทษ แต่จริงๆ แล้วการที่กฎหมายกำหนดให้คดีแพ่งมีอายุกี่ปีนั้น มีเหตุผล 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เป็นนิตินโยบายของรัฐเพื่อดำรงความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในการอ้างสิทธิของบุคคล อันเป็นการห้ามปรามมิให้มีการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วมาเรียกร้องต่อกัน เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วนั้นย่อมยุ่งยากสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์แก่กัน พยานหลักฐานอาจสูญหาย เสื่อมสภาพ บกพร่อง หรือคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลาได้ ซึ่งจะส่งผลให้การวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อาจเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

2. เป็นโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยปละละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเสียที จนกระทั่งล่วงเลยอายุความที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้เกิดมี “สิทธิปฏิเสธ” ขึ้นสามารถปฏิเสธการเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่เพิ่งมากระทำเมื่อล่วงเลยอายุความไปแล้วได้ ดังนั้น อายุความจึงเป็นเครื่องกระตุ้นให้เจ้าหนี้ระแวดระวังในการใช้สิทธิของตนมากขึ้น

3. เป็นการช่วยปลดเปลื้องภาระของลูกหนี้ในอันที่จะต้องเก็บรักษาหลักฐานในการชำระหนี้ไว้ ไม่ต้องคอยพะวงรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้จนชั่วชีวิต เพราะเมื่อล่วงอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้โดยเพียงต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้วเท่านั้น

การกำหนดให้คดีแพ่งมีอายุกี่ปีนั้น เปรียบเสมือนเป็นการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการสืบสวนสอบสวนและตัดสินคดีโดยเร็ว รวมทั้งกระตุ้นให้โจทก์ใช้สิทธิของตนเอง เพราะถ้าดำเนินการในขณะที่พยานหลักฐานยังสดใหม่ ย่อมได้เปรียบกว่าการปล่อยเวลาไว้เนิ่นนาน เนื่องจากพยานหลักฐานอาจสูญหายไปตามกาลเวลา โอกาสที่ศาลจะตัดสินคลาดเคลื่อนก็มีสูงรวมทั้งเสี่ยงต่อคดีหมดอายุความนั่นเอง

หาทนายคดีแพ่ง ปรึกษาคดีแพ่ง ติดต่อทนายวิ 0991841301